ประวัติเกาะหลีเป๊ะ

  เกาะหลีเป๊ะ เป็นเกาะยอดนิยมของนักท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในทะเลอันดามัน เป็นเกาะที่มีชายหาดที่สวยงาม น้ำทะเลใส ผู้คนบนเกาะก็น่ารัก อยู่ในจังหวัดสตูล ห่างจากเกาะตะรุเตา ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 40 กิโลเมตร  ตั้งอยู่ตอนใต้ของเกาะอาดัง 2 กิโลเมตร เกาะหลีเป๊ะอยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา บนเกาะมีชุมชนชาวเลอาศัยอยู่หลายครอบครัว ส่วนใหญ่มีอาชีพทำการประมง 

    ชื่อของเกาะหลีเป๊ะ หลีเป๊ะเป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำภาษามลายู “นิปิส” แปลว่า “บาง” มีความหมายเหมือนกับแผ่นกระดาษ หรือแบนเรียบ ตามลักษณะเกาะที่แบนๆไม่มีภูเขาสูงเลย ตัวเกาะมีลักษณะคล้ายกับรูปบูมเมอแรง มีทางเดินเชื่อมจากหน้าเกาะไปยังหลังเกาะได้ ระยะทางไม่ไกล และสามารถเดินเที่ยวหาดต่างๆรอบเกาะได้สบายๆ

    เกาะหลีเป๊ะ มีขนาดเล็กกว่าเกาะอาดังประมาณหนึ่งเท่า  แต่เป็นเกาะที่มีความสำคัญ เนื่องจากลักษณะของเกาะเป็นที่ราบทั่วไป  ส่วนที่เป็นภูเขามีเพียงเล็กน้อย  

    มีงานประเพณีที่น่าสนใจงานหนึ่ง ของชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ จัดขึ้นในวัน 13-15 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 12 ตลอด 3 วัน 3 คืน ชาวบ้านที่มีเชื้อสายชาวเลจะมารวมกันที่เกาะหลีเป๊ะ เพื่อช่วยกันต่อเรือด้วยไม้ระกำ และประกอบพิธีลอยเรือ ซึ่งเชื่อว่าเป็นการเสี่ยงทายโชคชะตา ในการประกอบอาชีพประมงว่าปีนี้จะดีหรือไม่ และจุดเด่นอีกอย่างของเกาะหลีเป๊ะก็คือ หาดทรายที่ขาวละเอียด น้ำใสสวยมาก มีอ่าวพัทยาที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอย่างมาก หาดพัทยาและหาดชาวเล เป็นหาดหลักของเกาะหลีเป๊ะ ที่อยู่กันคนล่ะด้าน ซึ่งทั้งสองหาดนี้สามารถเดินถึงกันได้โดยใช้เวลา 15 นาที

    จุดเด่นของเกาะหลีเป๊ะ  คือ  มีหาดทรายขาวสะอาด  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก  ซึ่งเป็นที่ตั้งหมู่บ้านชาวเล  ย่านชุมชนใหญ่ของเกาะ  ด้านทิศตะวันตกมีหาดทรายยาว ชื่อเรียกเป็นภาษามลายูว่า “ หาดปะไตดายา”  หรือ “หาดลมตะวันตก”  นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกเรียกเพี้ยนเป็น “พัทยา”  จนติดปากผู้คนไปแล้ว มีเอกชนปลูกสร้างรีสอร์ทไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวหลายแห่ง  บริเวณหาดด้านตะวันออกและด้านตะวันตกของเกาะหลีเป๊ะ กิจการท่องเที่ยวจึงเฟื่องฟูมากทุกวันนี้

    เกะหลีเป๊ะมีความสวยงามตามธรรมชาติไม่แพ้เกาะอาดัง  รอบๆ เกาะอุดมสมบูรณ์ด้วยปะการังหลากสีสัน  นักท่องเที่ยวชอบนำชุดประดาน้ำ  เพื่อดำลงไปชมความงามของปะการังใต้น้ำ  นอกจากนั้น  เกาะหลีเป๊ะมีจุดเด่นตรงที่ยามน้ำลด  จะปรากฏส่วนกว้างใหญ่ของปะการังโผล่ขึ้นมาให้เห็น สามารถลงไปสัมผัสกับปะการังนั้นโดยตรง  ช่วยให้บรรยากาศการท่องเที่ยวน่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง

    เกาะหลีเป๊ะนับเป็นเกาะหนึ่งที่มีชุมชนชาวเล เป็นชาวพื้นเมืองเดิม อาศัยอยู่มานาน เดิมทีลักษณะอุปนิสัย และการดำรงชีวิตของชาวเลนั้นจะร่อนเร่ไปเรื่อยๆตั้งแต่ แหลมมาลายูจนถึงน่านน้ำพม่า ด้วยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือ แต่เมื่อท้องทะเลเกิดมีการกำหนดเขตแดนเป็นประเทศอย่างเข้มงวด ชาวเลจึงต้องเริ่มลงหลักปักฐานบนเกาะต่างๆ สำหรับชาวเลที่เกาะหลีเป๊ะ เป็นกลุ่มอุรัก ลาโว้ย อพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันก็ยังทำอาชีพประมงขนาดเล็กอยู่  บน เกาะก็มีโรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมปีที่ 3 ชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนบ้านเกาะอาดัง”  และสถานีอนามัย เหมือนชุมชนบนฝั่งอื่นๆเกาะหลีเป๊ะวันนี้จึงเป็นการผสมผสานกันระหว่าง การเป็นอยู่ของชาวเลดั้งเดิม และรีสอร์ทที่พักที่เปิดใหม่ตามชายหาดต่างๆ  

    นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสชีวิตที่เรียบง่าย ของชาวเลที่เกาะหลีเป๊ะได้ ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีของพวกเขามีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง  พวกชาวเลที่นี่ใช้ภาษาตระกูลออสโตรเนเชียน  บางคำก็ยืมมาจากภาษามลายู  เนื่องจากนักท่องเที่ยวทั้งคนไทย และต่างชาตินิยมไปท่องเที่ยวกันมากในแต่ละปี  ทำให้วิถีชีวิตของชาวเลแตกต่างไปจากเดิมอยู่บ้าง 

    เกาะหลีเป๊ะ เป็นเสมือนศูนย์กลางการเดินทางสำหรับนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาเที่ยวหมู่เกาะอา ดัง-ราวี เมื่อเรือโดยสารจากท่าเรือปากบารา บนฝั่งสตูลเดินทางมาถึงเกาะหลีเป๊ะในตอน เย็นแล้ว จะมีเรือหางยาวมารับนักท่องเที่ยวไปยังหาดต่างๆ เพื่อเข้าพักตามรีสอร์ท เช้าวันใหม่จึงเช่าเหมาเรือหางยาวออกไปเที่ยวตามเกาะต่างๆ ซึ่งหากใช้เวลาตอดวันก็สามารถเที่ยวได้เกือบทุกเกาะแล้ว เพราะแต่ละเกาะอยู่ใกล้ๆกัน เช่น เกาะอาดัง, เกาะราวี, เกาะดงเป็นต้น ตกเย็นก็กลับมานอนที่เกาะหลีเป๊ะ  แล้วรอเรือโดยสารกลับในวันถัดไป 

1 ความคิดเห็น: